ดาวตกเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เรามีโอกาสเห็นดาวตกได้ทุกคืน แสงของดาวตกเกิดจากการที่สะเก็ดดาว (meteoroid) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของดาวหางและดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศโลก หากสังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีเมฆหมอก แสงจันทร์ และแสงไฟฟ้ารบกวน โดยทั่วไปสามารถมองเห็นดาวตกบนท้องฟ้าได้เฉลี่ยราว 6 ดวงต่อชั่วโมง ดาวตกที่สว่างมาก ๆ
เรียกว่าลูกไฟ (fireball)เส้นทางที่สะเก็ดดาวจำนวนมากเคลื่อนที่เป็นสายไปในแนวเดียวกันในอวกาเรียกว่าธารสะเก็ดดาว (meteoroid stream) แรงโน้มถ่วงของวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวเคราะห์ ส่งผลรบกวนต่อธารสะเก็ดดาว เมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาว ซึ่งเกิดขึ้นหลายช่วงของปี จะทำให้เห็นดาวตกหลายดวงดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า (เป็นมุมมองในเชิงทัศนมิติ ลักษณะเดียวกับที่เราเห็นรางรถไฟบรรจบกันที่ขอบฟ้า) เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าฝนดาวตก (meteor shower) ในรอบปีมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมง แต่ยังก็เรียกว่าฝนดาวตก
ดาวตกจากฝนดาวตกสามารถปรากฏในบริเวณใดก็ได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นย้อนไปตามแนวของดาวตก จะไปบรรจบกันที่จุดหนึ่ง เรียกจุดนั้นว่าจุดกระจายฝนดาวตก (radiant) ชี่อฝนดาวตกมักตั้งตามกลุ่มดาวหรือดาวที่อยู่บริเวณจุดกระจายนี้ แสงจันทร์และแสงจากตัวเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสังเกตดาวตก จึงควรหาสถานที่ที่ฟ้ามืด ยิ่งฟ้ามืดก็จะยิ่งมีโอกาสเห็นดาวตกมากขึ้นการสังเกตดาวตกด้วยตาเปล่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องมีอุปกรณ์ใด ๆ เพียงแต่ต้องเตรียมตัวรับกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ก่อนสังเกตดาวตกต้องรอให้ดวงตาของเราชินกับความมืดเสียก่อนซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที นอกจากการสังเกตด้วยตาเปล่า นักดาราศาสตร์ยังใช้กล้องโทรทรรศน์ กล้องสองตา การถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ และการสังเกตด้วยคลื่นวิทยุ แม้ว่าขอบเขตภาพของกล้องโทรทรรศน์และกล้องสองตาจะแคบกว่าการดูด้วยตาเปล่า แต่ก็ช่วยให้มองเห็นดาวตกที่จาง ๆ ได้ และมักใช้หาตำแหน่งที่แม่นยำของจุดกระจาย
ภาพถ่ายดาวตกช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณตำแหน่งที่แม่นยำของมันได้ เลนส์ปกติมีศักยภาพในการจับภาพดาวตกที่สว่างกว่าโชติมาตร 1 ภาพดาวตกดวงเดียวกันจากจุดสังเกตการณ์หลายจุด สามารถใช้คำนวณหาเส้นทางการโคจรของสะเก็ดดาวในอวกาศ การบันทึกภาพดาวตกด้วยกล้องถ่ายวิดีโอก็ใช้ในการศึกษาดาวตกด้วยเช่นกัน แต่ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเพิ่มความเข้มของแสง ควันค้าง (persistent train) คือ ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนควันลอยค้างบนท้องฟ้าตรงจุดที่ดาวตกหายวับไป ศัพท์คำนี้ยังไม่มีการใช้แพร่หลายในภาษาไทย จึงขอเรียกว่าควันค้างตามลักษณะที่ปรากฏไปพลางก่อน ควันค้างเกิดจากการเรืองแสงในบรรยากาศชั้นบน โดยมีดาวตกเป็นตัวการทำให้โมเลกุลในบรรยากาศแตกตัวเป็นไอออน ความเข้มและอายุของควันค้างขึ้นอยู่กับขนาด องค์ประกอบ และความเร็วของดาวตก ลูกไฟซึ่งเกิดจากสะเก็ดดาวขนาดใหญ่มักก่อให้เกิดควันค้างอยู่อย่างนั้นนานหลายนาที ก่อนจะเปลี่ยนรูปร่าง จางลง และสลายตัวไปในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น