วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ดาวเคราะห์ในเดือนธันวาคม 2554

ดาวเคราะห์

ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของฤดูหนาวนี้ นอกจากดาวฤกษ์สว่างหลายดวง ยังมีดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเด่นอยู่บนท้องฟ้า ดาวศุกร์ปรากฏเป็น "ดาวประจำเมือง" อยู่ทางทิศตะวันตก เยื้องไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงแรกดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู วันที่ 20 ธันวาคม เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวแพะทะเล การที่ดาวศุกร์มีตำแหน่งค่อนไปทางใต้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ช่วงนี้ดาวศุกร์มีมุมเงยสูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก ตลอดเดือนนี้ดาวศุกร์มีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นจาก 11.5 ไปที่ 12.9 พิลิปดา ความสว่างเกือบคงที่ที่โชติมาตร –3.9 พื้นผิวด้านสว่างลดลงจาก 89% ไปที่ 83%
ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวแกะ ถอยเข้าสู่กลุ่มดาวปลาในต้นเดือนธันวาคม เริ่มเห็นได้บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาหัวค่ำ ต้นเดือนดาวพฤหัสบดีขึ้นไปอยู่สูงกลางฟ้าในเวลา 4 ทุ่ม ตกลับขอบฟ้าในเวลาตี 4 ปลายเดือนอยู่สูงกลางฟ้าในเวลา 1 ทุ่มครึ่ง และตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณตี 2 เดือนนี้ดาวพฤหัสบดีมีขนาดปรากฏเล็กลงจาก 47.5 ไปที่ 43.5 พิลิปดา ความสว่างลดลงจากโชติมาตร –2.8 ไปที่ –2.6
ท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของเดือนนี้มีดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ อยู่บนท้องฟ้า ดาวพุธอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 4 ธันวาคม หลังจากนั้นราวปลายสัปดาห์ที่ 2 หรือต้นสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ดาวพุธจะเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวแมงป่อง ช่วงวันที่ 10-31 ธันวาคม ดาวพุธมีขนาดเล็กลงจาก 9.2 ไปที่ 5.8 พิลิปดา ความสว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร +1.7 ไปที่ –0.4 พื้นผิวด้านสว่างเพิ่มขึ้นจาก 13% ไปที่ 79% สว่างครึ่งดวงในวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงไม่กี่วันก่อนที่ดาวพุธจะทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุด
ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ต้นเดือนธันวาคม 2554 ดาวอังคารจะทำมุม 90° กับดวงอาทิตย์ โดยห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตก ทำให้ดาวอังคารขึ้นเหนือฟ้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น 6 ชั่วโมง คือเวลาประมาณเที่ยงคืน จากนั้นขึ้นไปอยู่สูงเหนือศีรษะในเวลาเช้ามืด ขนาดปรากฏและความสว่างของดาวอังคารกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เดือนนี้ขนาดใหญ่ขึ้นจาก 7.1 ไปที่ 8.9 พิลิปดา ความสว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร +0.8 ไปที่ +0.2 ช่วงนี้คาดว่ามีน้ำแข็งปกคลุมบริเวณขั้วเหนือของดาวอังคาร ซึ่งกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงอาจส่องเห็นได้
ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ต้นเดือนดาวเสาร์จะขึ้นมาที่มุมเงย 10° จากขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาประมาณตี 4 และขึ้นไปอยู่สูงที่มุมเงยประมาณ 30° ในช่วงฟ้าสาง ปลายเดือนเริ่มเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณตี 2 ครึ่ง และทำมุมสูงราว 50° ขณะท้องฟ้าเริ่มสว่าง ตลอดเดือนนี้ขนาดปรากฏตามแนวศูนย์สูตรของดาวเสาร์เพิ่มขึ้นจาก 16.0 ไปที่ 16.7 พิลิปดา สว่างที่โชติมาตร +0.7 วงแหวนดาวเสาร์เอียงทำมุมมากขึ้นเรื่อย ๆ เดือนนี้ทำมุม 14°-15° กับแนวเล็ง
ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.8) อยู่ในกลุ่มดาวปลา ดาวเนปจูน (โชติมาตร +7.9) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ สังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ในสถานที่และเวลาที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงรบกวน เวลาที่สังเกตได้ดีที่สุดคือเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิทหลังสิ้นแสงสนธยา กลางเดือนธันวาคมนี้ดาวเนปจูนมีมุมเงยต่ำกว่า 15° ในเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ส่วนดาวยูเรนัสสามารถสังเกตได้จนถึงเวลาประมาณ 5 ทุ่มครึ่ง แผนที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน ดูที่ดาวเคราะห์ในปี 2554

ดวงจันทร์

สองสัปดาห์แรกเป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม หัวค่ำวันอังคารที่ 6 ธันวาคม จะเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะห่าง 5° ค่ำวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม ดวงจันทร์อยู่ระหว่างดาวอัลเดบารันกับกระจุกดาวลูกไก่ ห่างดาวอัลเดบารัน 8° ห่างกระจุกดาวลูกไก่ 6° คืนวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญเป็นคืนวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย เกิดจันทรุปราคาในช่วงหัวค่ำถึงเที่ยงคืนครึ่ง บังหมดดวงในช่วงเวลา 21:06-21:57 น. ทำให้ดวงจันทร์กลายเป็นสีแดงอิฐ
เช้ามืดวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม ดวงจันทร์สว่างค่อนดวงอยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ที่ระยะห่าง 5° วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ใกล้ดาวอังคารที่ระยะห่าง 9° จากนั้นสว่างครึ่งดวงในวันอาทิตย์ เช้ามืดวันอังคารที่ 20 ธันวาคม จันทร์เสี้ยวอยู่ทางขวามือของดาวรวงข้าว 2° ขณะนั้นดาวเสาร์อยู่ทางซ้ายมือ เยื้องไปทางด้านล่างของดาวรวงข้าว 5.6°
วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม ใกล้ขอบฟ้าจะเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ทางขวามือของดาวพุธที่ระยะห่าง 3° โดยมีดาวแอนทาเรสอยู่ด้านล่างเยื้องไปทางขวามือของดวงจันทร์ที่ระยะ 5° วันนั้นเป็นวันที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุด และน่าจะเป็นวันสุดท้ายที่เห็นดวงจันทร์ในเวลาเช้ามืด
จันทร์ดับเดือนนี้เกิดขึ้นในเวลาประมาณตี 1 ของวันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พลบค่ำวันเดียวกัน หากท้องฟ้าโปร่ง ปราศจากเมฆหมอกบดบัง และไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ภูเขา หรือต้นไม้กีดขวาง กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์อาจช่วยให้เห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางเฉียบ อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในทิศทางเดียวกับทิศที่ดวงอาทิตย์ตก ค่ำวันอังคารที่ 27 ธันวาคม จันทร์เสี้ยวอยู่ทางขวามือของดาวศุกร์ คืนนั้นดวงจันทร์อยู่ห่างดาวศุกร์ 6° ตกลับขอบฟ้าเกือบพร้อมกันในเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง หลังจากนั้น ดวงจันทร์จะมีส่วนสว่างเพิ่มขึ้นจนสว่างครึ่งดวงในคืนวันปีใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น